mas template

แว่นอัจฉริยะกูเกิล ไม่ทันวางขาย รัฐสภา-กาสิโน มะกันก็ชักผวาแล้ว

{[['']]}

   
รอยเตอร์ – แม้เป็นเพียงเวอร์ชันทดลองและมีใช้สำหรับคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่ “แว่นตาอัจฉริยะกูเกิล” หรือ “กูเกิล กลาส” (Google Glass) นวัตกรรมลูกผสมระหว่างคอมพิวเตอร์พกพากับแว่นตา ซึ่งสามารถบันทึกวิดีโอและเล่นเน็ตได้ นับเป็นแก็ดเจ็ตที่มาแรงที่สุดของปีนี้ เป็นที่เฝ้ารอคอยอย่างคลั่งไคล้ของพวกบ้าเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้หลายฝ่ายกังวล ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรัฐสภา กระทั่งถึงผู้ดำเนินการบ่อนกาสิโน เพราะมันอาจจะเป็นเครื่องมือในการละเมิดความเป็นส่วนตัวและกฎระเบียบควบคุมต่างๆ อย่างชนิดเกินกว่าจินตนาการได้
 
   หลายคนเชื่อว่า คอมพิวเตอร์แบบสวมได้ชนิดนี้ คือคลื่นลูกใหม่ในวงการเทคโนโลยี เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนที่วิวัฒนาการมาจากพีซี โดยขณะนี้แอปเปิลและซัมซุงกำลังคร่ำเคร่งพัฒนาเทคโนโลยีแบบสวมได้รูปแบบอื่นๆ อยู่เช่นกัน
 
   นับตั้งแต่ที่จัดส่ง แว่นกูเกิล เวอร์ชันทดลอง ให้นักพัฒนาไม่กี่พันคนที่ผ่านการคัดเลือกและจ่ายเงินค่าแว่น 1,500 ดอลลาร์ ไปทำการทดลอง ผู้ใช้แว่นตาไฮเทคนี้ก็ได้ถูกล้อเลียนจากรายการทีวี “แซตเทอร์เดย์ ไนต์ ไลฟ์” ไปจนถึงบล็อกยอดนิยมบางแห่ง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบางคนกังวลว่า อาจมีคนนำแว่นนี้ไปใช้ในทางที่ผิด เนื่องจากสามารถบันทึกวิดีโอได้โดยที่เป้าหมายมีโอกาสรู้ตัวน้อยกว่าอุปกรณ์พกพาอื่นๆ
 
   แต่กูเกิลและผู้ทดลองใช้บางคนยืนยันว่า ความกังวลดังกล่าวเกินจริง เนื่องจากเมื่อมีการบันทึกวิดีโอจะมีแสงกะพริบให้คนถูกถ่ายรู้เช่นเดียวกับกล้องวิดีโอทั่วไป
 
   ผู้สวมแว่นกูเกิลหลายคนในงานประชุมนักพัฒนาบอกว่า พวกเขาต้องปิดอุปกรณ์นี้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น ในห้องล็อกเกอร์ของสถานออกกำลังกาย ขณะที่ ไมเคิล อีแวนส์ นักพัฒนาเว็บจากวอชิงตัน ดี.ซี. ที่เข้าร่วมการประชุมด้วยบอกว่า เขาถอดแว่นกูเกิลเมื่อเข้าชมภาพยนตร์ ถึงแม้ในทางเป็นจริงแล้ว แว่นชนิดนี้ไม่เหมาะสำหรับบันทึกหนังยาวๆ ทว่า “ผมไม่อยากถูกไล่ออกจากโรงหนัง” เขากล่าว
 
   หน้าจออิเล็กทรอนิกส์ขนาดเท่าสแตมป์ที่กรอบซ้ายของแว่น ทำให้แว่นกูเกิลสามารถอัดวิดีโอ เข้าถึงอีเมล บอกทิศทางอย่างละเอียด และดึงข้อมูลจากเว็บด้วยการเชื่อมต่อแบบไร้สายกับโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้
 
   “คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเสียงวิจารณ์จากพวกที่กลัวการเปลี่ยนแปลง หรือพวกที่ไม่คิดว่าสังคมควรมีการปรับตัว” อิริก ชมิดต์ ประธานกรรมการกูเกิล กล่าวระหว่างการปาฐกถาที่วิทยาลัยบริหารรัฐกิจเคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อเดือนที่แล้ว
 
   ชมิดต์ยอมรับว่า มีบางสถานที่ที่ไม่เหมาะแก่การสวมแว่นกูเกิล แต่เขาเชื่อว่า สังคมจะมีกฎกติกามารยาทใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาในอนาคต ขณะที่อัลเลน เฟิร์สเทนเบิร์ก ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีซึ่งอยู่ในที่ประชุมนักพัฒนาของกูเกิลด้วย มองว่า คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่ทุกฝ่ายจะรู้สึกสะดวกใจกับเทคโนโลยีใหม่นี้ และขณะนี้ไม่ควรด่วนสรุปว่า แว่นตากูเกิลเป็นสิ่งเลวร้าย
 
   นวัตกรรมเทคโนโลยีก่อนหน้านี้ เช่น โทรศัพท์มือถือและชุดหูฟังไร้สาย ก็เคยกระตุ้นความกังวลในช่วงแรกๆ แต่ปัจจุบันนวัตกรรมเหล่านี้อยู่ภายใต้กฎกติกามารยาทใหม่ เช่น ไม่ควรพูดโทรศัพท์เสียงดังขณะอยู่ในรถโดยสาร หรือ ควรปิดเสียงโทรศัพท์ขณะประชุม กระนั้นก็ตาม นวัตกรรมเช่นแว่นกูเกิลนี้ อย่างไรเสียก็คงจะไม่ได้รับการต้อนรับสำหรับบางสถานที่หรือบางคน
 
   ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ดำเนินการสถานกาสิโน ซีซาร์ เอนเตอร์เทนเมนท์ ประกาศไม่อนุญาตให้สวมแว่นกูเกิลในห้องเสี่ยงโชคหรือห้องโชว์สินค้าของตน นอกจากนี้ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไฟฟ์ พอยต์ คาเฟ่ใ นซีแอตเติล ยังเป็นบาร์แห่งแรกที่แบนแว่นกูเกิล โดยระบุว่า ต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
 
   หน่วยตรวจการณ์ทางหลวงของมลรัฐแคลิฟอร์เนียแสดงความเห็นว่า แม้ขณะนี้ไม่มีกฎหมายห้ามผู้ขับขี่สวมแว่นกูเกิลขณะขับรถในรัฐ แต่หากอุปกรณ์นี้ทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิ เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาออกกฎหมายมาบังคับใช้
 
   ขณะเดียวกัน เมื่อวันพฤหัสบดี (16) ที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ 8 คนได้ส่งจดหมายถึง แลร์รี เพจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกูเกิล เพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาความเป็นส่วนตัวจากการใช้แว่นตาไฮเทค เช่น แว่นกูเกิลสามารถจดจำใบหน้าได้หรือไม่
 
   เกี่ยวกับคำถามนี้ กูเกิลตอบว่า แว่นของบริษัทไม่มีเทคโนโลยีจดจำใบหน้า และบริษัทไม่มีแผนใส่เทคโนโลยีนี้ลงไปด้วย ยกเว้นแต่เมื่อมีมาตรการปกป้องความเป็นส่วนตัวที่เคร่งครัดขึ้นออกมาบังคับใช้แล้วเท่านั้น
 
   ในช่วงหนึ่งของการประชุมนานหนึ่งสัปดาห์เพื่อหารืออย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับแว่นกูเกิล สมาชิกทีมพัฒนาได้ตอบคำถามเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า นัยและมารยาททางสังคมเป็นประเด็นหลักที่ทางทีมให้ความสำคัญระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นเพียงเวอร์ชันทดลอง
 
   ความกังวลเกี่ยวกับแว่นกูเกิลบางส่วนอาจมาจากประวัติของกูเกิลเอง กล่าวคือเมื่อสามปีที่แล้ว บริษัทเปิดเผยว่า รถสตรีท วิว หรือรถที่ติดตั้งกล้องถ่ายภาพพาโนรามาสำหรับผลิตภัณฑ์กูเกิล แมปส์ ได้บันทึกข้อมูลส่วนตัว เช่น อีเมลและหน้าเว็บที่ส่งผ่านเครือข่ายไร้สายในบ้านที่ไม่มีการเข้ารหัสด้วย
 
   มาร์ก โรเซนเบิร์ก ผู้อำนวยการบริหารอิเล็กทรอนิก ไพรเวซี อินฟอร์เมชัน เซนเตอร์ กลุ่มไม่แสวงหากำไร ซึ่งมุ่งสนับสนุนเชิดชูเรื่องความเป็นส่วนตัว กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่มีผู้แสดงความวิตกกังวลมากที่สุดก็คือ กลัวกันว่าข้อมูลมากมายที่แว่นกูเกิลเก็บ ตั้งแต่เสียงและภาพ ไปจนถึงข้อมูลที่ตั้งของผู้ใช้ จะถูกส่งไปยังศูนย์ข้อมูลของกูเกิล.




ทีามา



Share to friend :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2013. KIP Thai - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger