{[['']]}
หลังประสบความสำเร็จในการผลิตเส้นใยชีวภาพในระดับห้องปฏิบัติการ สนช.-สถาบันสิ่งทอ พร้อมดันเทคโนโลยีออกจากแล็บสู่เอกชน ตั้งเป้าสร้างแบรนด์ไทยดันสู่ตลาดสิ่งทอระดับบนในยุโรปและญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญต่อวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า สนช.และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธัญบุรีพัฒนาเส้นใยชีวภาพจากเม็ดพลาสติก PLA ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกที่ได้จากวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง อ้อยและข้าวโพด เป็นต้น
จากนั้นสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้นำผลศึกษาในห้องปฏิบัติการเพื่อขยายสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยถ่ายทอดแก่ 3 บริษัทเอกชน คือ บริษัท นำรุ่งเรยอน จำกัด บริษัท เอเชียไฟเบอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สยามเส้นใยประดิษฐ์การทอ จำกัด ซึ่ง ดร.วันทนีย์กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ตั้งเป้าเพื่อสร้างแบรนด์ “PLA Thailand” ให้แก่เส้นใยชีวภาพไทย
“เนื่องจากเส้นใยชีวภาพจากเม็ดพลาสติก PLA มีจุดหลอมเหลวต่ำ สิ่งทอที่ได้จากเส้นใยนี้จึงไม่สามารถรีดด้วยความร้อนได้ แต่ข้อดีของเส้นใยนี้คือมีน้ำหนักเบา เงางาม ให้ความรู้สึกสวมสบายเหมือนเส้นใยธรรมชาติ แต่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงเส้นใยโพลีเอสเตอร์” ดร.วันทนีย์กล่าว และบอกด้วยว่าได้ส่งเสริมให้นำเส้นใยชีวภาพนี้ไปปั่นผสมกับเส้นใยธรรมชาติจากฝ้ายและไหม โดยได้สนับสนุนงานวิจัยในเรื่องนี้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.วันทนีย์กล่าว การส่งเสริมเส้นใยชีวภาพ ยังมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้เส้นใยจากโพลีเอสเตอร์ ซึ่งอนาคตเมื่อน้ำมันแพงขึ้น เส้นใยโพลีเอสเตอร์จะแพงขึ้นด้วย ปัจจุบันเส้นใยชีวภาพมีราคาแพงกว่าเส้นใยโพลีเอสเตอร์ 3 เท่า แต่เมื่อนำไปปั่นผสมกับเส้นใยฝ้ายและไหมแล้วไม่มีปัญหาเรื่องต้นทุน เนื่องจากลูกค้าที่มีกำลังซื้อผ้าฝ้ายและไหมเป็นกลุ่มลูกค้าตลาดบน โดยตลาดใหญ่อยู่ในยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใส่ใจในการเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากการปั่นเป็นเส้นใยยาวเพื่อนำไปผลิตสิ่งทอแล้ว ดร.วันทนีย์กล่าวว่า เส้นใยชีวภาพยังนำมาใช้ผลิตเป็นผ้าอ้อมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ได้ ซึ่งตอนนี้ยังใช้เส้นใยที่ย่อยสลายไม่ได้ และเมื่อใช้แล้วจะเก็บอุ้มความชื้น ฝังก็ไม่ย่อยสลาย เมื่อเผาก็ก่อมลพิษ หากใช้เส้นชีวภาพแทนจะกำจัดด้วยวิธีฝังกลบได้ ส่วนตัวดูดความชื้นยังพัฒนาจากแป้งมันสำปะหลังทดแทนเจลดูดซับความชื้นที่ใช้ในปัจจุบัน
สำหรับ PLA คืออนุพันธ์พอลิเมอร์ของโพลีแลคติคแอซิด (Polylactic Acid) ซึ่งได้จากกระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบทางเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นต้น โดยมีคุณสมบัติเป็นเม็ดพลาสติกเช่นเดียวกับที่ได้จากปิโตรเคมี แต่สามารถย่อยสลายได้เมื่อฝังกลบ โดยเม็ดพลาสติกที่นำมาใช้ผลิตเส้นใยชีวภาพนี้ ดร.วันทนีย์ระบุว่านำเข้าจากจีน แต่อนาคตอันใกล้จะมีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก PLA ในเมืองไทย
ที่มาhttp://manager.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น