mas template

ไทยกับโลกอนาคต

{[['']]}
สภาข่าวกรองแห่งชาติ ของสหรัฐ เพิ่งเผยแพร่รายงานเรื่อง “แนวโน้มโลกใน พ.ศ.2573  ” ซึ่งพยายามมองรูปร่างหน้าตาของโลกในปี 2573  หรืออีก 18 ปีข้างหน้าว่าเป็นอย่างไร  โดยมีวัตถุประสงค์ให้รัฐบาลสหรัฐนำไปใช้ในการวางกลยุทธการบริหารประเทศและบริหารโลกในอนาคต  สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้พอสรุปให้สั้นที่สุดได้ดังนี้ 
ประการแรก  ไม่มีประเทศใดจะเป็นเจ้าโลกแต่ผู้เดียว  การเมืองโลกจะแบ่งเป็นหลายขั้ว  อำนาจจะกระจายไปสู่เครือข่ายภาคประชาสังคมมากขึ้น   ช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นการปิดฉากความยิ่งใหญ่ของสหรัฐและตะวันตก   อย่างไรก็ดี  สหรัฐก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในโลกต่อไป  แต่คงไม่อาจทำหน้าที่เป็นตำรวจโลกได้เหมือนในอดีต 
ประการที่สอง  ความยากจนของโลกลดลง   คนจนน้อยลง  ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น  คนมีการศึกษามากขึ้น  มีการคิดค้นและใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการติดต่อสื่อสารและการผลิต  การดูแลด้านสุขภาพมีความก้าวหน้ามากขึ้น  
ประการที่สาม จีนจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าสหรํฐ   ในขณะที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่น  สหภาพยุโรป รัสเซีย  จะหดตัวลงต่อเนื่อง  ประเทศในภูมิภาคเอเชียจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงเหนือกว่ายุโรปและอเมริกาเหนือ  เศรษฐกิจโลกในอนาคตจะเชื่อมโยงกับการเติบโตของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา  มากกว่าผูกติดกับชาติตะวันตกดังก่อน  จีน อินเดียและประเทศในภูมิภาคเอเชีย จะเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก  จะมีการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกกันใหม่เพราะมีความไม่สมดุล
ประการที่สี่   ด้านพลังงาน  สหรัฐยังคงเป็นผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก  และสหรัฐจะสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ใน 20 ปีข้างหน้า   เนื่องจากสหรัฐมีแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองที่ใหญ่ที่สุดในโลก  และสามารถขยายพลังงานสำรองจาก 30 ปี เป็น 100 ปี ทำให้สหรัฐยังครองตำแหน่งประเทศมหาอำนาจที่มีความสำคัญระดับโลกต่อไป  
ประการที่ห้า   ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นจาก 7.1 พันล้านคนปัจจุบันเป็น 8.3 พันล้านคน  จะเกิดปัญหาคนล้นโลก  มีความเสี่ยงด้านอาหาร  น้ำ  พลังงาน  ทรัพยากรธรรมชาติลดลง  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้มีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติมากขึ้น  ประเทศที่แล้งก็แล้งมากขึ้น  ประเทศเขตฝนก็จะเจอน้ำท่วมมากขึ้น   โลกจะมีคนสูงวัยจะมีมากขึ้น  เศรษฐกิจของประเทศที่มีคนสูงวัยมากจะหดตัว  ประชากรโลกร้อยละ 60 จะอาศัยอยู่ในตัวเมือง  เขตเมืองจะใหญ่ขึ้น  มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น  ต้องการแรงงานมากขึ้น  มีการโยกย้ายถิ่นฐานมากขึ้น   
ประการที่หก  อำนาจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทำให้ประเทศต่าง ๆ ได้เสียประโยชน์ไม่เท่ากัน  จะก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองและสังคม  นำไปสู่การขัดแย้งภายในประเทศและระหว่างรัฐ   จะเกิดการไร้เสถียรภาพในบางภูมิภาค โดยเฉพาะตะวันออกกลางและเอเชียใต้  ที่อาจขยายไปยังแห่งอื่น   อาจมีการนำอาวุธนิวเคลียและอาวุธที่มีอำนาจทำลายร้ายแรงออกมาใช้    สงครามไซเบอร์มุ่งทำลายระบบเทคโนโลยีให้ใช้งานไม่ได้มากกว่าการทำลายล้างชีวิตมนุษย์     การก่อการร้ายมีแนวโน้มลดน้อยลงแต่ไม่ได้หมดไปโดยสิ้นเชิง  เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการ  
ประการที่เจ็ด   เทคโนโลยีสารสนเทศ  (ไอ.ที.) จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในโลกอนาคต   เจ้าของธุรกิจออนไลน์ขนาดใหญ่  เช่น  กูเกิ้ล  เฟซบุ๊ค  จะเป็นผู้กุมข้อมูลส่วนใหญ่ของโลกและมีอำนาจเหนือรัฐบาลของหลายประเทศ  การใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารแบบใหม่ที่แพร่หลายมากขึ้นจะทำให้เครือข่ายสังคมกลายเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถรวมพลังกันท้าทายรัฐบาลได้   ผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐ จะมีบทบาทมากขึ้นในการเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายของโลก  
เมื่อโลกเปลี่ยน  คนเล่นเกมเปลี่ยน  เกมก็ต้องเปลี่ยน  รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องปรับตัวเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว  ประเทศต่าง ๆ จะปรับตัวหรือจัดระเบียบโลกกันใหม่อย่างไร  ผู้นำประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐและจีนต้องเป็นแกนนำร่วมมือกันแก้ไขปญหาของโลก 
สหรัฐในฐานะมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์ครอบคลุมไปทั้งโลก  มองโลกทั้งใบและมองไปไกล  20 ปีข้างหน้าเพื่อว่ารัฐบาลสหรัฐจะได้วางแผนบริหารจัดการระยะยาวกับโลกใบนี้   ส่วนประเทศต่าง ๆ ซึ่งได้อานิสงค์จากรายงานฉบับนี้จะต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว   ไทยซึ่งเป็นหมากตัวหนึ่งบนเกมหมากรุกโลกจะเดินเกมอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกเบียดตกกระดาน 
รัฐบาลไทยใช้เวลามากเกินไปในการจัดการกับปัญหาวุ่นวายทางการเมืองในประเทศและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเรียบร้อยเมื่อไร  มีใครบ้างที่พอจะบอกได้ว่า ใน 10-20 ปีข้างหน้า  ไทยจะเผชิญกับสิ่งท้าทาย  ความเสี่ยง  ภัยคุกคามต่อความมั่นคงที่มาจากนอกประเทศและในประเทศอะไรบ้าง   เช่น  สงครามกลางเมือง  การจลาจล   ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคม   การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ   แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเป็นเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เราเคยคิดว่า  ประเทศไทยอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมที่สุด  ปลอดภัยจากพิบัติทางธรรมชาติ   แต่วันนี้ไม่แน่เสียแล้วเพราะมีสัญญานเตือนมาแล้วหลายครั้ง    รัฐบาลตรียมบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร  ทั้งด้านการป้องกัน  การแก้ไข  
เพียงแค่การบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554  ก็เป็นบทพิศูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลไม่มีความพร้อมโดยสิ้นเชิงและ เป็นการบริหารจัดการที่ผิดพลาดโดยไม่ต้องแก้ตัวกันอีก   หากรัฐบาลเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงกว่านี้  เช่น  แผ่นดินไหว  รัฐบาลคงไปไม่เป็น  เช่นเดียวกับรัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารจัดการภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น  คือ ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งไม่รู้จะยุติลงเมื่อใดโดยที่ไทยยังรักษาอธิปไตยไว้ได้    
จากการสำรวจกลไกและเครื่องมือของรัฐในการบริหารจัดการความเสี่ยงและภัยคุกคาม   พบว่า  ยังไม่มีความพร้อมที่จะเผชิญกับภัยคุกคามโดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติ   ซึ่งจะต้องมีการปฏิรูปกันทั้งด้านนโยบาย  กฎหมาย  องค์การ ฯลฯ   แต่ไม่รู้ว่าจะทันกับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไรเพราะรัฐบาลมัวยุ่งอยู่กับการแก้ปัญหา “การเมือง” มากกว่าแก้ปัญหา “บ้านเมือง”   
จะไปพึ่ง  สมช. ในเรื่องนี้คงไม่ได้  เพราะเวลานี้ สมช.วุ่นวายอยู่กับเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลเป็นสำคัญ     ส่วนความมั่นคงของประเทศกลายเป็นเรื่องรองไปแล้ว  




อ้างอิงhttp://www.the-thainews.com
Share to friend :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2013. KIP Thai - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger